“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
มดลูกต่ำ เกิดจาก อะไร ? ชวนสังเกต รู้จัก ดูแลตัวเอง และรักษากัน !
การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสำหรับผู้หญิง นอกจากจะดูแลตัวเองให้ไม่เจ็บป่วยไร้โรคภัยแล้ว อีกหนึ่งส่วนที่ผู้หญิงเราให้ความสำคัญและมีความกังวลเป็นพิเศษคือ เรื่องของระบบสืบพันธ์ุ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการมีประจำเดือน การตกขาวมากกว่าปกติที่กวนใจ หรือเป็นกังวลว่าจะมีถุงน้ำหรือซีสต์ในมดลูก รังไข่ของเราหรือไม่ ทั้งนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกต คือ ภาวะมดลูกต่ำ ซึ่งหลายๆ คนอาจเคยได้ยินกันมาบ้าง แต่ยังไม่แน่ใจว่ามดลูกต่ำ มีอาการอย่างไร และ มดลูกต่ำ เกิดจาก สาเหตุอะไรได้บ้าง ทีมงานเพื่อสุขภาพอยากชวนคุณผู้หญิงมาสังเกตและรู้จักภาวะมดลูกต่ำกัน เพื่อที่จะได้ป้องกัน และรักษาได้เร็วค่ะ
ชวนรู้ มดลูกต่ำ อาการเป็นยังไง ? มดลูกต่ำ เกิดจากอะไร ?
อาการ Uterine Prolapse หรือ มดลูกต่ำ คือ การที่มดลูกยื่นย้อยหรือเคลื่อนต่ำลงมาอยู่ที่ตำแหน่งช่องคลอด โดยปกติ มดลูกจะอยู่ในตำแหน่งภายในอุ้งเชิงกราน มีรูปร่างคล้ายชมพู่ มีกล้ามเนื้อที่ห้อยอยู่ระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกหัวหน่าวที่ทำหน้าที่ยึดมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และสำไส้ และยังมีเอ็น เนื้อเยื่อ ช่วยยึดมดลูกให้อยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งถ้าหากเนื้อเยื่อดังกล่าวไม่แข็งแรงหรือถูกทำลาย จะส่งผลให้มดลูกหย่อนลงไปที่ช่องคลอดได้ ทั้งนี้ อาการมดลูกต่ำ แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือ
- ระดับที่ 1 มดลูกต่ำหรือหย่อนลงมาอยู่ในระดับครึ่งหนึ่งของช่องคลอด
- ระดับที่ 2 มดลูกต่ำอยู่ในระดับเหนือปากช่องคลอด
- ระดับที่ 3 มดลูกเคลื่อนต่ำออกมาจนปากมดลูกโผล่พ้นช่องคลอด
- ระดับที่ 4 มดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดทั้งหมด เรียกว่า มดลูกย้อย (Procidentia)
เกร็ดสุขภาพ : การตรวจอุ้งเชิงกราน จะทำให้วินิจฉัยภาวะมดลูกต่ำได้ โดยแพทย์จะตรวจการเคลื่อนไหวของลำไส้เพื่อประเมินว่าเกิดภาวะมดลูกต่ำหรือหย่อนมากน้อยเพียงใด และตรวจความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน หรือตรวจโดยการอัลตราซาวด์เพื่อวินิจฉัยปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นกับอุ้งเชิงกราน
อาการของภาวะมดลูกต่ำ
อาการที่แสดงออกมาหรือสามารถสังเกตุได้นั้น ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น โดยผู้ที่เกิดมดลูกต่ำในระยะที่ 1 อาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่ในผู้ที่มีการหย่อนหรือต่ำในระดับที่ 2 ขึ้นไป อาจมีอาการดังนี้
- รู้สึกแน่นในช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด
- รู้สึกได้ว่ามีเนื้อเยื่อนูนออกมาจากช่องคลอด มีก้อนโผล่ออกมาจากช่องคลอดทำให้เดินลำบาก
- ปวดถ่วงท้องน้อยหรือปวดหลัง
- มีแผลที่ช่องคลอด หรือมีเลือดออกทางช่องคลอดเนื่องจากก้อนที่ออกมามีการเสียดสีบริเวณปากมดลูก ทำให้เกิดแผล
- ตกขาวรุนแรง หรือตกขาวผิดปกติ มีตกขาวลักษณะคล้ายหนอง หรือมีเลือดปน
- รู้สึกเจ็บหรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปัสสาวะเล็ด เพราะหนึ่งสาเหตุของมดลูกต่ำ เกิดจากการไอเรื้อรัง ทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อที่ทำหน้าที่เป็นหูรูดท่อปัสสาวะ ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้
เจาะลึกสาเหตุ ! มดลูกต่ำ เกิดจาก อะไรกันแน่ ?
สาเหตุที่ทำให้เกิดมดลูกต่ำ มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งยังยังประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ดังนี้
- อายุ วัยสูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกต่ำ ซึ่งอาจเกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน ทำให้มีการเสื่อมสภาพของเนื้อเยื่อต่างๆ
- การคลอดบุตรทางช่องคลอด เช่น การคลอดยาก หรือการคลอดบุตรหลายๆ ครั้ง ในผู้หญิงบางคนที่มีประวัติคลอดบุตรยากหรือต้องเบ่งนาน หรือคลอดโดยไม่ได้เย็บซ่อมแผลที่มีการฉีกขาดของช่องคลอด แม้ว่าจะอายุน้อยและเป็นการคลอดบุตรคนแรกก็อาจมีภาวะหมดลูกต่ำได้
- พฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดความดันในช่องท้อง มดลูกต่ำ เกิดจากการยกของหนัก ไอเรื้อรัง ถ่ายลำบาก ต้องเบ่งอุจจาระเป็นประจำ ก็อาจทำให้มดลูกเคลื่อนต่ำได้
- มีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน ก็ทำให้มดลูกต่ำได้ ทั้งนี้ หากมีเนื้องอกในมดลูก (Fibroids) ที่ไม่ใช่เนื้อร้าย หรือเกิดถุงน้ำที่รังไข่ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานถูกถ่วงให้ตึง และเกิดมดลูกต่ำได้
- เคยได้รับผ่าตัดที่อุ้งเชิงกราน เช่น ผ่าตัดมดลูก หรือผ่าตัดรักษากระเพาะปัสสาวะ ก็ทำให้เกิดภาวะมดลูกต่ำหรือหย่อนได้
- มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง ทำให้มดลูกต่ำ เกิดจากกล้ามเนื้อที่ยึดมดลูกอ่อนแอ ไม่แข็งแรง เช่น ปัญหากระเพาะปัสสาวะหย่อน ปัญหาลำไส้ส่วนบนหรือลำไส้เล็กหย่อน ปัญหาลำไส้ส่วนปลายหย่อน เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : ผู้ที่มีอาการมาร์แฟน (Marfan Syndrome) หรืออาการข้อเคลื่อนหลุดง่าย จะส่งผลต่อหลอดเลือด ดวงตา และกระดูก รวมถึงโรคหนังยืดผิดปกติ ทำให้กล้ามเนื่อและเนื้อเยื่อในร่างกายมีการเสื่อมสภาพลงไป ทำให้เกิดภาวะมดลูกต่ำได้เช่นกัน
วิธีการรักษาภาวะมดลูกต่ำ
ตอนนี้ก็ได้รู้แล้วว่า ภาวะมดลูกต่ำ คืออะไร และมีอาการอย่างไรบ้าง มีสาเหตุมาจากอะไร ทำให้หลายๆ คนอาจกำลังเป็นกังวลอยู่ว่า แล้วสามารถรักษาภาวะมดลูกต่ำได้หรือไม่ ซึ่งสามารถรักษาได้ โดยมีวิธีการรักษาคือ
- เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน โดยการฝึกขมิบช่องคลอด ซึ่งการบริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานให้แข็งแรงจะช่วยบรรเทาภาวะมดลูกต่ำให้มีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระดับ 1 หรือ 2
- การใส่อุปกรณ์ช่วยพยุงในช่องคลอดที่เรียกว่า Pessary ซึ่งมีหลายรูปแบบและหลายขนาด มีลักษณะยืดหยุ่น เพื่อสอดเข้าไปในช่องคลอดได้พอดีและใช้พยุงมดลูกได้
- รักษาโดยการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด ซึ่งเป็นการผ่าตัดมดลูก และนำออกมาโดยผ่านทางช่องคลอดเพื่อรักษาผู้ที่มีอาการเคลื่อนต่ำของมดลูก
- รักษาโดยการผ่าตัดซ่อมแซมแก้ไขอวัยวะเชิงกรานหย่อนในส่วนต่างๆ
- การรักษาโดยใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือยาเหน็บช่องคลอด เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งการรักษาด้วยฮอร์โมนจะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าสามารถให้ฮอร์โมนกับผู้ป่วยได้หรือไม่
มดลูกต่ำ สามารถป้องกันได้หรือไม่ ?
ถ้าไม่อยากให้เกิดภาวะมดลูกต่ำขึ้น ผู้หญิงเราควรดูแลร่างกายตัวเอง ปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม และรักษาสุขภาพ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากต้องยกของหนัก ให้ยกด้วยท่าทางที่ถูกต้อง
- ป้องกันการท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ กินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง เช่น ผัก ผลไม้ ถั่ว และธัญพืชไม่ขัดสี เพื่อลดการเบ่งขณะขับถ่าย เพราะทำให้มดลูกหย่อนหรือต่ำได้
- รักษาอาการไอเรื้อรัง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากเป็นการเพิ่มแรงดันให้กับช่องท้อง ทำให้เกิดมดลูกหย่อนและเคลื่อนต่ำได้
- รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ตามเกณฑ์ พยายามคุมน้ำหนักอย่าให้มีน้ำหนักมากเกินไป
- บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งผู้ที่ตั้งครรภ์อยู่หรือเคยคลอดบุตรมาแล้ว เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรง
- ตรวจอัลตราซาวด์ ตรวจช่องท้องหรือตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ร่วมกับการตรวจภายใน (อ่านเพิ่มเติม ตรวจภายใน ตรวจอะไรบ้าง) เพื่อเป็นการเช็กสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
ภาวะมดลูกต่ำ คือสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิง หากมีปัจจัยเสี่ยงหรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้เกิดภาวะมดลูกต่ำได้ ทั้งนี้ การป้องกันเอาไว้ก่อนย่อมดีกว่าการแก้ไข แม้ภาวะมดลูกต่ำสามารถรักษาได้ แต่การที่เรารู้ว่า มดลูกต่ำ เกิดจากอะไร ก็จะได้ระวังตัว หลีกเลี่ยงปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการดูแลตัวเอง และป้องกันเอาไว้ก่อนค่ะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : 2.si.mahidol.ac.th, my.clevelandclinic.org, mayoclinic.org
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ