“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่าย อะไรก็ sensitive ไปหมด หรือเราจะเป็น Highly Sensitive Person ?
เคยไหม ? เจอใครบางคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวมากเป็นพิเศษ และดูจะค่อนข้าง Sensitive คือ ถูกกระตุ้นได้ง่าย ไวต่อความรู้สึก ไวต่อสิ่งรอบข้างมากๆ หากมีอะไรมากระทบใจก็จะรู้สึกมากกว่าคนปกติทั่วไป หรือเราเองนี่แหละที่กำลังเป็นแบบนี้อยู่ และบางครั้งก็ ร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่าย เหลือเกินทำให้รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง และถูกคนรอบข้างมองไม่ดีได้ แต่ความจริงแล้ว เราอาจเพียงแค่เป็นคนอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ และไม่ใช่คนอ่อนแอก็ได้ ด้วยเพราะมีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person คือ มีความอ่อนไหวมากกว่าคนปกติทั่วไป เปรียบเสมือนฟองน้ำที่สามารถดูซับอะไรรอบตัวได้ง่าย ทำให้บางครั้งก็ดูดซับอารมณ์ ความรู้สึกลบๆ รอบตัวมาโดยไม่ได้ตั้งใจ และทำให้รู้สึกท่วมท้น อัดอั้นอารมณ์ของตัวเองไม่ไหว จนแสดงออกมาด้วยการร้องไห้ หรือถูกเรียกว่าเป็นคน Senitive อยู่บ่อยๆ
ถ้าใครที่กำลังเป็นแบบนี้อยู่ หรือเห็นคนรอบข้างมีอาการคล้ายๆ แบบนี้ ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะไม่ได้เป็นความผิดปกติอะไร เพียงแต่ว่า เราเป็นคนอ่อนไหวโดยธรรมชาติก็เท่านั้น ในบทความนี้ เราจะพามารู้จักกับบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person หรือ HSP เพื่อที่จะได้เข้าใจธรรมชาติของผู้คนเหล่านี้กันให้มากขึ้นค่ะ
ร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่าย ใช่ Highly Sensitive Person หรือเปล่า ?
คำว่า Highly Sensitive Person หรือ HSP ถูกนิยามโดยนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน Dr. Elaine Aron ซึ่งได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ High Sensitivity ตั้งแต่ปี 1991 และพบว่ามีบุคคลที่มีบุคลิกภาพแบบ HSP ประมาณ 15 – 20% ของจำนวนประชากร ซึ่งคนที่เป็น HSP จะเป็นคนที่มีบุคลิกคล้ายกับฟองน้ำ ที่สามารถซึบซับสิ่งรอบตัวได้อย่างง่ายดาย และอ่อนไหวต่อสิ่งกระตุ้นเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นด้านของระบบประสาทสัมผัสต่างๆ ทั้งแสง สี เสียง กลิ่น รส รวมถึงการรับชมหรือเจอกับเหตุการณ์ที่กระทบอารมณ์ความรู้สึก เช่น การดูหนังสยองขวัญหรือหนังดรามาที่มีเนื้อหาหนักหน่วง ก็ทำให้รู้สึกไม่ดีมากเป็นพิเศษได้ และทำให้แสดงอารมณ์โดยการร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่ายนั่นเอง
ด้วยลักษณะนิสัยภายนอกที่ดูอ่อนไหวง่ายเนื่องจากซึมซับอารมณ์ความรู้สึกได้มากกว่าและลึกกว่าคนทั่วไป ทำให้คนที่มีลักษณะบุคลิกภาพแบบ HSP มักถูกเข้าใจผิดจากคนรอบข้างว่าเป็นคนอ่อนแอ ไม่เเข้มแข็ง ร้องไห้ง่าย ไม่โตเป็นผู้ใหญ่ ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกไม่ได้ แต่ที่จริงแล้ว คนที่มีลักษณะแบบนี้ จะต้องใช้พลังงานในการจัดการความรู้สึกมากกว่าคนทั่วไป และแสดงออกได้ง่ายเพราะรู้สึกอัดอั้นเกินจะทนไหว เนื่องจากสามารถซึมซับความรู้สึกได้ลึกและง่ายกว่าคนทั่วไปนั่นเอง
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับลักษณะของคนที่เป็น Highly Sensitive Person ให้มากขึ้นว่า มีลักษณะอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร และมีวิธีการจัดการดูแลตัวเองได้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะได้เข้าใจคนที่มีลักษณะ HSP มากขึ้น หรือใครที่กำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person หรือเปล่า ? หาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความนี้เลยค่ะ
เกร็ดสุขภาพ : ไม่มีการวินิจฉัยว่าใครเป็น Highly Sensitive Person ในทางการแพทย์ เนื่องจากไม่ใช้ความเจ็บป่วยทางสุขภาพจิต และไม่ใช่ความผิดปกติด้านบุคลิกภาพ แต่เป็นบุคลิกภาพอีกแบบหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างที่มีรู้สึกมากกว่าคนทั่วไป ทั้งในอารมณ์ทางบวกและอารมณ์ทางลบ
ลักษณะเด่นของคนที่เป็น Highly Sensitive Person
มาดูกันว่า คนที่มีบุคลิกภาพแบบ HSP หรือ Highly Sensitive Person สามารถสังเกตได้จากลักษณะใดบ้าง พร้อมเช็กตัวเองไปด้วยว่า เราเข้าข่ายเป็นคนแบบ HSP หรือเปล่านะ ?
- ไม่สามารถทนต่อแสงสว่างจ้าๆ ได้ ไม่ชอบอยู่ในที่เสียงดังหรือที่ที่มีคนพลุกพล่าน จะรู้สึกอึดอัด เวลาได้ยินเสียงไซเรนจะรู้สึกตกใจ รู้สึกไม่สบายเนื้อตัว ไม่ชอบเวลาได้กลิ่นฉุนรุนแรง รู้สึกทนไม่ไหว หรือแม้กระทั่งการใส่เสื้อผ้าบางชนิดก็อาจรู้สึกระคายเคืองได้ เช่น เนื้อผ้าที่มีความแข็ง หยาบ จะรู้สึกรำคาญเหมือนมีอะไรมาถูกผิวตลอดเวลา
- ไม่ชอบดูหนังแอคชั่น หนังสยองขวัญ หนังฆาตกรรม หนังสงคราม หรือภาพยนตร์ที่มีเนื้อหารุนแรง เพราะรู้สึกเหนื่อย และมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่ายเวลาดูหนังฟังเพลง พูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่า รู้สึกอินจัดนั่นเอง
- รู้สึกเพลินไปกับการชิมอาหาร ฟังเพลงหรือฟังดนตรีแบบรับรู้ถึงตัวโน้ต หรือเพลิดเพลินไปกับการชื่นชมผลงานศิลปะ มีอารมณ์ละเอียดอ่อน สนุกกับการอ่านวรรณกรรมที่มีความลึกซึ้งของตัวละครหรือการใช้ภาษาที่สวยงาม ซึ่งคนที่มีบุคลิกภาพแบบ HSP อาจถูกมองว่ามีความเป็นศิลปินสูง
- มักหลีกหนีจากความวุ่นวาย และชอบหาเวลาส่วนตัวเป็นของตัวเอง เช่น อยู่ในห้องคนเดียว หรืออยู่ในที่มืดๆ เงียบๆ เพื่อจะได้อยู่กับตัวเองและมีเวลาส่วนตัวโดยที่ไม่มีใครมารบกวนได้
- มักพยายามจัดการชีวิตหรือมีตารางชีวิตของตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดหรือถูกกดดัน เนื่องจากจะรู้สึกเครียดมากกว่าคนทั่วไป หรือแพนิคกับตัวเองเวลาจัดการอะไรไม่ได้ (อ่านเพิ่มเติม แพนิค วิธีการรักษา)
- คนที่มีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person จะมีโลกส่วนตัวสูง เนื่องจากเป็นคนที่มีความคิดซับซ้อนหรือเป็นคนคิดมากกับสิ่งต่างๆ เพราะประสาทสัมผัสไว รับอะไรเข้ามาได้ง่าย จึงมักจะชอบใช้เวลาอยู่กับตัวเองหรือคิดอะไรเงียบๆ คนเดียว หรือจัดการกับระบบความคิดความรู้สึกของตัวเอง
- HSP ไม่ชอบความขัดแย้ง และอาจรับมือกับคำวิพากษ์วิจารณ์ได้ไม่เก่งนัก เนื่องจากคนที่เป็น Highly Sensitive Person มักจะมีความคาดหวังในตัวเองสูงมาก และมักจะรู้สึกดิ่งมากกว่าคนทั่วไปถ้าเผชิญกับความล้มเหลวของตัวเอง
- ตอนเด็กมักถูกมองว่าเป็นคนอ่อนไหวง่าย ขี้แย หรือขี้อาย แม้ในตอนโตก็อาจมีอาการร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่ายอยู่ และมีความ Sensitive คือ ไวต่อสิ่งกระตุ้น ซึมซับความรู้สึกของคนรอบข้างได้ไว ทำให้บางครั้งรู้สึกเหนื่อยหรือหมดพลังงาน และเวลารู้สึกอย่างไรก็จะแสดงออกมาอย่างห้ามไม่ได้ เช่น ไม่สามารถห้ามให้ตัวเองร้องไห้ได้ หรือรู้สึกเจ็บที่อกเวลาตกใจหรือรู้สึกเสียใจ เป็นต้น
เกร็ดสุขภาพ : คนที่มีบุคลิกภาพแบบ HSP มีแนวโน้มที่เป็นคนละเอียดอ่อนและช่างสังเกต เนื่องจากสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นได้มากกว่าปกติ มักจะเป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นคนเปิดกว้าง และไม่ตัดสินผู้อื่นอย่างรวดเร็ว ในแง่ของการทำงานนั้น ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ด้วยความช่างสังเกตและละเอียดอ่อน ประสาทสัมผัสไว ทำให้สามารถนำสิ่งต่างๆ มาประมวลผลแต่เกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้ และยังมีกระบวนการคิดที่ซับซ้อน สามารถคิดค้นสิ่งแปลกใหม่หรือมีไอเดียใหม่ๆ ได้
สาเหตุของการเกิดบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person
สิ่งที่ทำให้เกิดบุคลิกภาพแบบ HSP นั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม พันธุกรรม หรือประสบการณ์ในวัยเด็ก จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การถูกเลี้ยงดูแบบขาดความอบอุ่นหรือไม่ได้รับความใส่ใจในวัยเด็กอาจทำให้เด็กมีความ Sensitive คือ ไวต่องสิ่งกระตุ้นและมีความอ่อนไหวสูง เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย และมีความวิตกกังวล ซึ่งอาจทำให้พัฒนาไปเป็นบุคลิกภาพแบบ HSP ได้
นอกจากนี้ พันธุกรรมก็ทำให้เกิดลักษณะบุคลิกภาพแบบ HSP ได้เช่นกัน จากการศึกษาของ Dr.Aron พบว่า ระบบประสาทในสมองของคนที่อ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษกับคนที่ไม่ได้อ่อนไหวง่ายมีความแตกต่างกัน ประกอบกับการศึกษาของ Jerome Kagen นักจิตวิทยาประจำมหาวิทยาลัยฮาร์วาด พบว่า คนที่อ่อนไหวเป็นพิเศษจะมีไวต่อสิ่งเร้าตั้งแต่ตอนเป็นเด็กทารก เช่น ร้องไห้จนตัวโยน เนื่องจากสารสื่อประสาท Noradrenaline หลั่งออกมามาก รวมถึงฮอร์โมน Cortisol หรือฮอร์โมนความเครียดก็มีการหลั่งออกมามากกว่าเด็กคนอื่นๆ เมื่อถูกความเครียดในระดับเดียวกันกระทบ กล่าวได้ว่า บุคลิกภาพแบบ HSP อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ในตอนที่เป็นเด็ก และต่อเนื่องมาจนถึงในวัยผู้ใหญ่
เรียนรู้ที่จะอยู่กับบุคลิกแบบ Highly Sensitive Person ของตัวเองอย่างไรให้เป็นสุข
คนที่มีบุคลิกภาพแบบ HSP จะมีความ Sensitive คือไวต่อสิ่งเร้าได้ง่าย ถูกกระตุ้นได้ง่าย และยังมีความรู้สึกที่ลึกและรู้สึกได้ง่ายมากกว่าคนอื่น ซึ่งอาจจะทำให้ใช้ชีวิตยากกว่าคนทั่วไป และจะรู้สึกเหนื่อยกับโลกรอบตัวได้ง่าย อย่างไรก็ตาม แม้จะมีบุคลิกภาพแบบ HSP ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ ถ้าปรับตัวเอง ดังนี้
1. เรียนรู้วิธีการรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของตัวเอง
ฝึกรับมือกับอารมณ์ท่วมท้นของตัวเอง และไม่จมดิ่งอยู่กับอารมณ์ลบๆ มากเกินไป พึงระลึกไว้ว่า ความรู้สึกที่ทำให้ไม่สบายใจ เช่น ความวิตกกังวล ความเศร้า ความเครียดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นชั่วคราวเนื่องจากประสาทสัมผัสที่ไวกว่าปกติของตนเอง และพยายามจัดการอารมณ์เหล่านั้นให้ไม่อยู่กับตัวเองนานเกินไป หรือหมั่นฝึกการพัฒนาจิตใจอยู่เรื่อยๆ ก็จะช่วยให้ตัวเองนิ่งขึ้นได้
2. ปรับสภาพแวดล้อมภายนอก
เช่น ปรับแสงไฟในห้องให้เป็นแสงอบอุ่น เลือกเครื่องนอนที่จะทำให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เนื่องจากการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับคนที่เป็น HSP เพราะใช้พลังงานอย่างหนักไปกับการรับมือกับสภาพแวดล้อมรอบตัว รวมถึง สร้างบรรยากาศในบ้านที่ทำให้รู้สึกสงบหรือรู้สึกว่าได้พักผ่อน อยู่กับตัวเองอย่างเต็มที่
3. วางแผนชีวิตล่วงหน้า
การวางตารางชีวิตเอาไว้ว่าจะต้องทำอะไรก่อนหลัง จัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องทำ จะทำให้คนที่เป็น HSP ไม่รู้สึกเครียดหรือกดดันจนเกินไป หรือแพนิคกับตัวเอง เนื่องจากคนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้มักจะรู้สึกเครียดหรือหงุดหงิดง่ายกว่าคนทั่วไป เวลาเจอสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกดดันอาจแสดงออกด้วยการร้องไห้ ซึ่งถ้าอยู่กับคนที่ไม่เข้าใจความเป็น HSP เช่น อยู่ในที่ทำงาน ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นคนอ่อนแอหรือจัดการอารมณ์กับตัวเองไม่ได้ ไม่เป็นผู้ใหญ่ ดังนั้น การวางแผนทำอะไรไว้ก่อนล่วงหน้า ก็อาจจะทำให้รู้สึกสบายใจและจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น
4. ตั้งขอบเขตให้กับตัวเอง
ด้วยความที่ประสาทสัมผัสไว ทำให้ถูกกระตุ้นได้ง่ายและดูดซับความรู้สึกของคนรอบข้างได้ง่าย บางครั้งทำให้เอาความรู้สึกทางลบมาใส่ตัวเอง ดังนั้น จึงควรตั้งขอบเขตให้กับตัวเอง เช่น รับฟังได้ แต่จะต้องพยายามไม่รู้สึกร่วมหรือมีอารมณ์ร่วมไปด้วย หรือถ้าไปงานเลี้ยงสังสรรค์แล้วต้องเจอคนมากมาย อีกทั้งมีเสียงอึกทึก ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า ก็อาจจะตั้งกฎกับตัวเองไว้ว่า ถ้ารู้สึกไม่ไหวหรือไม่สนุกก็ไม่ต้องฝืน ให้ออกไปสูดอากาศข้างนอกหรือขอตัวกลับก่อนก็ได้ อย่าพยามทนอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ทำให้รู้สึกอึดอัด เพราะอาจทำให้รู้สึกเครียดหรือเหนื่อยล้าหมดแรงตามมาได้
5. มีวงสังคมเล็กๆ ที่รู้สึกสบายใจ
อาจเป็นเพื่อนสนิทหรือคนในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความรักและการได้รับการสนับสนุน ซึ่งทำให้รู้สึกสบายใจ รู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง หรือสามารถพูดคุยระบายความเครียด ระบายอารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นออกมาโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกตัดสินหรือถูกตำหนิว่าเป็นคนร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่าย หากคนรอบข้างเข้าใจและยอมรับธรรมชาติของคนเป็น HSP ก็จะทำให้ผู้ที่มีบุคลิกภาพแบบนี้รู้สึกสบายใจมากขึ้น กล้าที่จะแสดงออกมากขึ้นและเปิดเผยตัวเองมากขึ้นค่ะ
ร้องไห้ง่าย อ่อนไหวง่าย ใช่ว่าจะเป็นคนอ่อนแอเสมอไป บางทีเราอาจจะเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person ก็เป็นได้ ซึ่งการมีบุคลิกภาพแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแย่หรือเป็นสิ่งไม่ดี สิ่งสำคัญคือ การยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น และเรียนรู้กับการเป็น HSP ไม่กล่าวตำหนิตนเองที่เป็นคน อ่อนไหวง่าย และมองหาข้อดีหรือประโยชน์จากสิ่งนี้แทน และไม่ลืมที่จะดูแลตัวเอง ซึ่ง Self – Care เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนที่มีบุคลิกแบบอ่อนไหวง่ายเป็นพิเศษ เพื่อให้มีพลังรับมือกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่ดูจะถาโถมและมีอิทธิพลมากกว่าปกติ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ มีวิธีคลายเครียดก่อนอน กินอาหารที่มีประโยชน์ และฝึกอารมณ์ตนเองโดยการนั่งสมาธิหรือทำสมาธิบ้างก็ได้ แล้วจะสามารถเป็นคนอ่อนไหวง่ายที่มีความสุขได้ค่ะ ถ้าใครอยากรู้ว่าตัวเองเป็นคนที่มีบุคลิกภาพแบบ Highly Sensitive Person หรือไม่ ก็สามารถทำแบบทดสอบได้ที่เว็บไซต์นี้เลย hsperson.com
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : verywellmind.com, positivepsychology.com
Featured Image Credit : pexels.com/SHVETS production
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ