X

พารานอยด์ คือ อะไร ? รู้จัก Paranoia ที่ทำให้ใจไม่เป็นสุขกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

พารานอยด์ คือ อะไร ? รู้จัก Paranoia ที่ทำให้ใจไม่เป็นสุขกัน !

บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า พารานอยด์ กันมาบ้าง และอาจแปลความหมายว่าเป็นคำเดียวกับคำว่า “นอยด์” ที่เป็นศัพท์แสลง หมายความว่ารู้สึกไม่ดี รู้สึกแย่ รู้สึกเซ็ง แต่จริงๆ แล้ว พารานอยด์ คืออาการทางสุขภาพจิตแบบหนึ่ง ซึ่งคนที่มีอาการพารานอยด์ มักจะรู้สึกหวาดระแวง ระแวดระวังมากกว่าคนปกติทั่วไป คิดว่าจะมีคนอื่นมาทำร้ายตัวเอง หรือกลัวว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีกับตัวเอง เป็นต้น และถ้ามีอาการรุนแรงมาก ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพใจและการใช้ชีวิตประจำวันได้ มารู้จักอาการพารานอยด์ให้มากขึ้นว่า พารานอยด์ คือ อะไร ? ใช่แบบที่เราคิดหรือเปล่า ? ไปอ่านกันเลยค่ะ

พารานอยด์ คือ อะไร ? เป็นความเจ็บป่วยทางใจหรือเปล่า ?

พารานอยด์ คือ, Paranoia คือ
Image Credit : freepik.com

พารานอยด์ หรือ Paranoia คืออาการหวาดระแวงอย่างหนึ่ง เป็นความรู้สึกที่ว่า ตัวเองถูกคุกคาม เช่น รู้สึกว่ามีคนกำลังเฝ้ามองอยู่ คิดว่ามีคนจ้องจะทำร้ายตัวเอง มีคนตามล่า หรือคิดว่าคนอื่นไม่ชอบตัวเอง รู้สึกไม่ไว้ใจคนรอบข้างทุกคน เพราะกลัวว่าจะถูกทำร้าย ทำให้ผู้ที่มีอาการพารานอยด์มีปัญหาในการเข้าสังคม และอาจมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบตัวได้ และถ้ามีอาการรุนแรงมาก ก็อาจทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น เชื่อว่าคนอื่นจะทำร้ายตัวเอง หรือพูดจาโกหกกับตัวเอง ซึ่งคนที่มีอาการพารานอยด์รุนแรงจะคิดว่าความหวาดระแวงนั้นๆ เป็นเรื่องจริง ทำให้เกิดอาการหลงผิด และอาจทำให้เกิดปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันได้

เกร็ดสุขภาพ :  บางคนอาจสงสัยว่า ความหวาดระแวงแตกต่างจากความวิตกกังวล (Anxiety) อย่างไร ? ความวิตกกังวล อาจเกิดขึ้นได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์สำคัญต่างๆ เช่น อยู่ต่อหน้าคนหมู่มาก ต้องพูดในที่ประชุม หรือกังวลเกี่ยวกับเรื่องงาน เรื่องความสัมพันธ์ แต่ความหวาดระแวงหรือพารานอยด์ คือการที่ตัวเองเชื่อว่า สิ่งต่างๆ ที่กำลังคิดอยู่นั้นจะเกิดขึ้นจริง 100% แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงพิสูจน์ว่าไม่เป็นความจริงก็ตาม เช่น คิดว่ามีคนตามฆ่าตัวเอง มีคนจ้องจะทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

ชวนเช็ก ! อาการชี้ชัดของ พารานอยด์ คือ อะไร ?

พารานอยด์ คือ, Paranoia คือ
Image Credit : freepik.com

ในคนทั่วไปอาจมีอาการหวาดระแวงบ้าง เช่น เมื่อเจอคนแปลกหน้าที่มีท่าทีไม่เป็นมิตร เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงว่าจะเกิดอันตราย เช่น ในช่วงเทศกาลที่มีการใช้ประทัด หรืออยู่ในคนหมู่มากแล้วรู้สึกว่าอาจจะเกิดเหตุก่อเรื่องได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ หรือบางคนอาจมีบุคลิกภาพที่ไม่ไว้ใจคนอื่นง่ายๆ และมีความระแวดระวังตัวสูง แต่อาการของพารานอยด์ คือ อาการหวาดระแวงที่รู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลอย่างรุนแรงจนส่งผลต่อการเข้าสังคมหรือการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยอาการพารานอยด์ที่พบได้คือ

  • ระแวงคนอื่นอยู่ตลอดเวลา 
  • ไม่สามารถไว้ใจคนอื่นได้
  • คิดว่าคนอื่นจะทำร้ายตัวเอง หรือพูดถึงตัวเองในทางไม่ดี
  • ปฏิบัติตัวไม่เป็นมิตรกับคนรอบข้าง
  • มองโลกในแง่ร้าย
  • เข้าสังคมได้ยาก
  • มีปัญหาในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
  • ไม่สามารถประนีประนอม ให้อภัย หรือยอมรับคำวิจารณ์ได้ 
  • มักคิดว่ามีความหมายแฝงอยู่ในการกระทำของคนอื่น
  • หากมีอาการพารานอยด์เข้าขั้นรุนแรง จะไม่ใช่แค่มีความคิดหวาดระแวงเท่านั้น แต่จะ “เชื่อ” ว่าสิ่งที่ตัวเองคิดเป็นเรื่องจริง เช่น เชื่อว่าจะมีคนทำร้ายตัวเองจริงๆ มีคนตามล่าตัวเองจริงๆ ซึ่งทำให้รู้สึกหวาดกลัว ไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาจเกิดเป็นความเจ็บป่วยทางใจได้

เกร็ดสุขภาพ :  อาการหวาดระแวง สามารถพบได้จากโรคทางสุขภาพจิตหลายโรค เช่น โรคจิตเภท (Schizophrenia) ซึ่งมีอาการหลายอย่าง แต่อาการอย่างหนึ่งที่มักจะพบบ่อยคือ อาการหวาดระแวง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีอาการหวาดระแวงจะเป็นโรคจิตเภทหรือ Schizophrenia ทุกคน และมีอีกโรคที่พบในผู้สูงอายุคือ โรคหลงผิด หรือ Delusional Disorder ที่ผู้สูงอายุจะเกิดอาการหลงผิด หวาดระแวง คิดว่าภรรยาไปคบชู้ หรือคู่แต่งงานจะวางยาพิษตัวเอง จะมีคนมาทำร้ายตัวเอง เป็นต้น

สาเหตุของทำให้เกิดอาการพารานอยด์ หรือ Paranoia คือสาเหตุอะไรบ้าง ?

พารานอยด์ คือ, Paranoia คือ
Image Credit : freepik.com

มีอยู่หลายสาเหตุด้วยกันที่ทำให้บุคคลเกิดความพารานอยด์หรือมีอาการหวาดระแวงได้ ทั้งในเรื่องของสุขภาพจิต การใช้ยาและสารเสพติด มีบุคลิกภาพแบบผิดปกติ รวมถึงการพักผ่อนน้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

1. การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการนอนน้อยเกินไป

    การนอนน้อยเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการพารานอยด์ คือ หวาดระแวง วิตกกังวล และก้าวร้าวได้เช่นกัน โดยเฉพาะคนที่อดนอนบ่อยๆ เพราะจะส่งผลต่ออารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน ความคิดวิเคราะห์ไม่ปกติ ทำให้เกิดความขัดแย้งกับผู้อื่นได้ และอาจทำให้รู้สึกว่าคนอื่นกำลังต่อต้านตนเองหรือปฏิบัติตัวไม่ดีกับตัวเอง ซึ่งถ้าหากอดนอนขั้นรุนแรง อาจเกิดอาการประสาทหลอนที่เรียกว่า Hallucinations ทำให้เห็นภาพหลอนหรือหูแว่วได้ ดังนั้น ควรนอนให้ได้ 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อการมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีนะคะ

    2. เกิดจากปัญหาทางด้านสุขภาพจิตต่างๆ

      เช่น ผู้ที่เป็นโรควิตกกังวล โรคแพนิค ไบโพลาร์ มีภาวะซึมเศร้า หรือมีความเชื่อมั่นในตัวเองต่ำ ส่งผลทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อโลกภายนอก ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้ใจหรือหวาดระแวงผู้อื่น กลัวว่าคนอื่นจะคิดไม่ดีกับตัวเอง หรือมองตัวเองไม่ดี

      3. เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง หรือ Paranoid Personality Disoder

        หากมีบุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง จะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถไว้ใจคนอื่นได้ เพราะคิดว่าคนอื่นจะหวังผลประโยชน์จากตนเอง หรือคิดไม่ดีกับตัวเอง และยังมีความรู้สึกกังวลว่าจะมีคนมาทำร้ายหรือหักหลังตัวเองอยู่เสมอ และเกิดความคิดที่ไม่เป็นจริง และมักจะคิดว่า “พวกเขาไม่ชอบฉัน” “พวกเขากำลังล้อเลียนฉันแน่ๆ” “พวกเขากำลังวางแผนทำร้ายฉันอยู่” ตลอดเวลาเป็นนิสัย

        4. การใช้ยาและสารเสพติด

          สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการพารานอยด์คือ สิ่งเสพติดจำพวกมีฤทธิ์หลอนประสาท เช่น กัญชา เห็ดเมา LSD โคเคน เมทแอมเฟตามีน ซึ่งออกฤทธิ์ทำให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวลและหวาดระแวงได้ ทั้งนี้ การดื่มแอลกฮอลล์อย่างหนักเป็นเวลานานก็อาจนำไปสู่อาหารประสาทหลอนได้

          5. การสูญเสียความทรงจำ

            เช่น ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางสมอง โรคอัลไซเมอร์ ที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกสับสน หวาดระแวงคนใกล้ชิดได้ เพราะจากการสูญเสียความทรงจำ รวมถึงอาจมีพฤติกรรมผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การซ่อนเงิน ซ่อนสิ่งของ และมีความคิดว่าคนรอบข้างมีเจตนาไม่ดีต่อตัวเอง

            6. สิ่งแวดล้อมภายนอก

            ผู้ที่อาศัยอยู่อย่างโดดเดี่ยว หรืออยู่ห่างไกลจากผู้คน ชอบแยกตัวออกจากสังคม มีแนวโน้มจะเกิดอาการพารานอยด์ คือ รู้สึกหวาดระแวงต่อโลกภายนอกมากขึ้น ทั้งนี้ การเสพข่าวสารที่มีเนื้อหาหนักๆ อย่างการฆาตกรรม การก่อการร้าย สงคราม การใช้ความรุนแรง ก็ส่งผลต่อจิตใจและทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวและหวาดระแวงได้

            พารานอยด์ สามารถรักษาได้หรือไม่ ? ควรรักษาอย่างไร ?

            พารานอยด์ คือ, Paranoia คือ
            Image Credit : freepik.com

              อาการพารานอยด์ คืออาการที่สามารถรักษาได้ และมีการรักษาที่แตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ โดยมีวิธีรักษาหลากหลายวิธี ดังนี้

              1. การรักษาแบบ Cognitive behavioural therapy คือ การรักษาด้วยวิธีการบำบัดความคิดและพฤติกรรม โดยจะให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดได้ตรวจสอบและสังเกตความคิด อารมณ์ ความรู้สึกของตนเองที่มีต่อสถานการณ์ต่างๆ และช่วยให้ผู้เข้ารับการบำบัดได้มีวิธีการคิดเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ในมุมมองที่แตกต่างออกไป เพื่อให้เกิดความวิตกกังวลน้อยลง และเกิดความรู้สึกหวาดระแวงน้อยลงได้
              2. รักษาด้วยวิธีศิลปะบำบัด คือ การทำกิจกรรมทางศิลปะเพื่อให้บุคคลนั้นๆ แสดงออกถึงความรู้สึก ความหวาดระแวงต่างๆ ออกมาผ่านงานศิลปะ และทำให้เกิดความเข้าใจในตนเองมากขึ้น สามารถตระหนักรู้ถึงความคิด ความรู้สึกหวาดระแวงที่ส่งผลกระทบต่อตนเอง และสามารถรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้นได้ดีขึ้น
              3. รักษาด้วยการใช้ยา ในผู้ที่มีบุคลิกภาพผิดปกติแบบหวาดระแวง เป็นโรคหลงผิด และโรคจิตเภท แพทย์จะทำการจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการหวาดระแวง หรืออาจจ่ายยาต้านเศร้าหรือยาคลายเครียดเพื่อระงับอาการ 
              4. ทำการรักษาในโรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการหวาดระแวงอย่างรุนแรงที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และอาจทำร้ายคนรอบตัวหรือคนใกล้ชิดได้ จึงจำเป็นที่จะต้องทำการรักษาในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น

              อาการ Paranoia คืออาการหวาดระแวงที่มีตั้งแต่ระดับต้นๆ ไปจนถึงระดับรุนแรง และเกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน ทั้งมาจากภาวะสุขภาพใจ บุคลิกภาพผิดปกติ มีโรคเจ็บป่วยทางกายที่ส่งผลต่อความคิดจิตใจ เช่น โรคความจำเสื่อม หรือการใช้ยาและสารเสพติดต่างๆ ที่มีฤทธิ์หลอนประสาท ทั้งนี้ อาการพารานอยด์ คือสิ่งที่สามารถรักษาได้ หากพบว่าคนใกล้ชิดมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น กลัวว่าคนอื่นจะมาทำร้าย หวาดระแวงคนรอบตัว หวาดกลัวโลกภายนอก และมีปัญหาในการเข้าสังคม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การเริ่มพูดคุยกับบุคคลนั้นๆ อย่างจริงใจและเปิดใจ อาจช่วยให้คนนั้นๆ ได้ระบายความคิด ความรู้สึกของตัวเองออกมา และทำให้อาการดีขึ้นได้ และถ้าหากมีอาการรุนแรงมาก การพูดคุยชวนให้ผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือให้พูดคุยกับนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือบอกว่าตัวเองพร้อมช่วยเหลือถ้าต้องการ ก็อาจทำให้ผู้ที่มีอาการหวาดระแวงอยากไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาได้ ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระวังคือ ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จะไม่คิดว่าตนเองมีความผิดปกติ แต่เชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองคิดหวาดระแวงนั้นเป็นความจริง ดังนั้น จึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จากสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอคำแนะนำที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ค่ะ

              อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : doctor.or.th, mind.org.uk, webmd.com

              Featured Image Credit : vecteezy.com/lek.jorruang94323

              ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

              ติดต่อโฆษณา

              เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

              Privacy Preferences

              คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

              Allow All
              Manage Consent Preferences
              • คุกกี้ที่จำเป็น
                Always Active

                ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

              • คุกกี้การวิเคราะห์

                เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

              Save