“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
ด้านชา ไร้ความรู้สึก กับทุกอย่าง ไม่สุข ไม่เศร้า มีแต่ความว่างเปล่า หรือเรามีภาวะ Emotional Numbness ?!
เคยมั้ยคะที่บางครั้งเรามีความรู้สึกเฉยชา รู้สึกเฉยๆ ไม่ยินดียินร้ายอะไร แม้จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีหรือเรื่องแย่ๆ เราก็ไม่มีความรู้สึกร่วมไปด้วย หากเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในเฉพาะเวลาที่เรารู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากสนใจอะไร ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกเท่าไหร่ แต่ถ้าเรารู้สึกเฉยชากับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสุขหรือเรื่องเศร้าแค่ไหนก็ตาม กลับ ด้านชา ไร้ความรู้สึก ไม่แน่ว่าเราอาจจะมีภาวะ Emotional Numbness อยู่ก็ได้ มารู้จักให้มากขึ้นกันเลยค่ะ
ด้านชา ไร้ความรู้สึก ไม่สุข ไม่เศร้า เราเป็นอะไรหรือเปล่า ?!
ภาวะด้านชาทางความรู้สึก หรือ Emotional Numbness เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตอย่างหนึ่ง คำว่า Numb แปลว่าชา คล้ายกับการชาตามร่างกายที่จะไม่มีความรู้สึกใดๆ ซึ่งภาวะด้านชาทางความรู้สึกเป็นสิ่งที่เกี่ยวกับอารมณ์ของเรา ทำให้เรากลายเป็นคนที่ไม่สุข ไม่ทุกข์ ไม่เศร้า เรียกว่าด้านชา ไร้ความรู้สึกไปเลย ไม่ว่าจะเจอกับเรื่องดีหรือเรื่องร้ายก็ตาม หากเป็นคนทั่วไปก็อาจจะรู้สึกดีใจ ปลื้มปิติ หรือรู้สึกเศร้าโศกเสียใจตามสถานการณ์ต่างๆ แต่กลับกัน คนที่มีภาวะด้านชาทางความรู้สึก กลับไม่ได้รู้สึกอะไรกับเรื่องนั้นๆ เลย
ในมุมมองของนักจิตบำบัดนั้น ภาวะด้านชาไร้ความรู้สึก หรือ Emotional Numbness ไม่ใช่การที่เราไร้อารมณ์ความรู้สึกไปเลย แต่เป็นกลไกป้องกันทางจิตอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเพื่อให้ตัวเองสามารถรับมือกับเรื่องราวที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตได้ ด้วยการปิดกั้นหรือหยุดอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตัวเองเอาไว้ เพื่อปกป้องตัวเอง ทำให้เกิดความว่างเปล่า ด้านชา ไร้ความรู้สึกขึ้นมาแทน แต่ไม่ได้เป็นโรคทางสุขภาพจิตแต่อย่างใด
เกร็ดสุขภาพ : ภาวะด้านชาทางความรู้สึก มีความแตกต่างจากภาวะสิ้นยินดี ซึ่งภาวะสิ้นยินดีเป็นความรู้สึกที่ว่า ไม่มีความสุขเลย รู้สึกว่างเปล่าเฉยชากับทุกอย่าง เฉยเมยกับทุกสิ่ง ไร้ซึ่งความพึงพอใจ โดยสมาคมจิตเวชของอเมริกาได้ระบุว่า ภาวะสิ้นยินดี หรือ Anhedonia เป็นความผิดปกติทางอารมณ์ และพบได้ในโรคจิตเภทและความผิดปกติทางจิตอื่นๆ แต่ภาวะด้านชาทางความรู้สึกเป็นกลไกป้องกันจิตใจตนเองที่ไม่ใช่ภาวะทางจิตแต่อย่างใด
ชวนเช็ก เรามีอาการของภาวะด้านชา ไร้ความรู้สึกอยู่หรือเปล่า ?
ถ้าตอนนี้กำลังอยู่ในภาวะไม่สุขไม่เศร้า รู้สึกว่างเปล่า คล้ายกับไม่มีหัวใจ ไม่ว่าจะเจอเรื่องดีๆ หรือเรื่องแย่ๆ ก็ตาม ลองมาเช็กดูไหมว่า เรากำลังอยู่ในภาวะ Emotional Numbness อยู่หรือเปล่า ?
- ไม่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ดีๆ หรือเหตุการณ์ร้ายๆ ก็ตาม
- ไม่สามารถเชื่อมโยงด้านอารมณ์และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้
- ขาดความสนใจในสิ่งที่ชอบ เช่น งานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ชอบของตัวเอง
- เชื่อว่าอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ คนเราไม่ต้องมีความรู้สึกก็ได้
- ไม่มีความรู้สึกห่วงใยผู้อื่น หรือแม้แต่ตัวเอง
- ไม่มีสมาธิ จดจ่อกับอะไรได้ยาก
- รู้สึกเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่อง
- ขาดแรงจูงใจในชีวิต
- เพิกเฉยและไม่สนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต
- ไม่สามารถรู้สึกหรือแสดงอารมณ์ต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน
ถ้าตรวจเช็กตัวเองแล้วพบว่า ตรงกับสภาวะที่เป็นอยู่มากกว่า 8 ข้อขึ้นไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าเรามีภาวะด้านชา ไร้ความรู้สึก ซึ่งถ้าปล่อยไว้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ในระยะยาว หากภาวะนี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ก็สามารถไปพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดได้นะคะ เพราะถ้าปล่อยเอาไว้ ก็อาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิตได้เช่นกัน
สาเหตุของภาวะด้านชา ไร้ความรู้สึก คืออะไร ?
อย่างที่กล่าวไปว่า ภาวะด้านชาไร้ความรู้สึกนั้น เป็นกลไกป้องกันจิตใจตนเองที่เกิดขึ้นเพราะเราต้องการปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดหรือความเศร้าโศกที่เคยรู้สึกมาก่อน และไม่อยากรู้สึกแบบนั้นอีก จึงปิดกั้นความรู้สึกตัวเอง เช่น เมื่อเจอสถานการณ์ที่อาจทำให้เรารู้สึกเสียใจ ก็พยายามที่จะไม่รู้สึกอะไรเพื่อให้ตัวเองสามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ แต่เมื่อทำบ่อยครั้งเข้า ก็ทำให้เราตัดขาดกับความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น สาเหตุของการเกิดภาวะด้านชาทางความรู้สึกมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
- ความวิตกกังวล : ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรควิตกกังวลอาจมีภาวะด้านชาทางอารมณ์ได้ เนื่องจากมีการตอบสนองต่อความเครียด ความกลัว หรือความวิตกกังวลอย่างรุนแรง จึงทำให้เกิดการป้องกันจิตใจตนเองด้วยการตัดขาดจากภาวะอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ
- ความเศร้าโศกที่ไม่สามารถรับมือได้ : อาจมีความเศร้ารุนแรงเกิดขึ้นในชีวิตและไม่สามารถรับมือได้ จึงตัดขาดจากความรู้สึกของตนเองและกลายเป็นว่ามีความด้านชาทางอารมณ์แทน
- ภาวะซึมเศร้า : ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือเป็นโรคซึมเศร้า ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะด้านชาทางความรู้สึก ไม่สุขไม่เศร้าได้เช่นกัน
- มีความเครียดมากเกินไป : ความเครียดในระดับรุนแรงทำให้เกิดความด้าชา ไร้ความรู้สึกได้ เพราะกระบวนการทางจิตของเราจะสร้างเกราะป้องกันตัวเองโดยการตัดขาดจากความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อไม่ให้ตัวเองเครียดและรับมือกับสถานการณ์นั้นๆ ได้ แต่สิ่งที่มาคือ ความรู้สึกเฉยชาว่างเปล่า ไม่สุขไม่เศร้านั่นเอง
- เป็นโรค PTSD : โรค PTSD หรือ Post Traumatic Stress Disorder คือ โรคทางจิตเวชที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่มีประสบการณ์เลวร้ายในชีวิตและกระทบกระเทือนจิตใจ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้นๆ ก็จะเกิดความรู้สึกเจ็บปวด เศร้าโศกเสียใจ หรือหวาดกลัว เลยใช้กลไกป้องกันทางจิตด้วยการปิดกั้นความรู้สึกของตัวเองและตัดขาดจากความรู้สึกต่างๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกเศร้าหรือเจ็บปวดเวลาคิดถึงเหตุการณ์ร้ายๆ ในอดีต
เกร็ดสุขภาพ : Emotional Numbness ไม่ใช่การทำใจหรือปลง แต่เป็น “การปฏิเสธความรู้สึก” ที่เกิดขึ้น ในขณะที่การทำใจและการปลงเป็นการยอมรับสภาพที่เป็นอยู่และยังมีความรู้สึกเกิดขึ้น เช่น เสียใจแต่ก็ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ภาวะด้านชาทางความรู้สึก เป็นการผลักไสความรู้สึกนั้นๆ ออกไปและตัดขาดตัวเองจากอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น เกิดเป็นความว่างเปล่า เฉยเมย ไม่สนใจในสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่รู้สึกรู้สาอะไรในที่สุด
วิธีจัดการกับภาวะด้านชาทางความรู้สึก ทำได้อย่างไร ?
บางคนอาจจะคิดว่า การที่เราไม่รู้สึกอะไรนั้นเป็นข้อดี เพราะจะได้ไม่ต้องรู้สึกเศร้า เสียใจ เครียด วิตกกังวล หรือมีความกลัวเกิดขึ้น แต่ภาวะด้านชา ไร้ความรู้สึกนั้น คือการไม่รู้สึกมีความสุขด้วยเช่นกัน ทั้งไม่รู้สึกชอบและพึงพอใจในสิ่งใด ไม่รู้สึกปิติยินดีกับเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ถ้าคนเราต้องใช้ชีวิตแบบนี้ไปตลอด ชีวิตคงปราศจากการมีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะมีเรื่องน่ายินดีแค่ไหน เช่น ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หรือมีคนทำดีให้ก็ไม่รู้สึกอะไร เมื่อนานไปอาจทำให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและอาจพัฒนาไปสู่การมีบุคลิกภาพที่ผิดปกติได้ แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกเฉยชานี้ได้อย่างไร มาดูกันเลยค่ะ
1. ฝึกยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง
มนุษย์เราย่อมมีอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งแสดงถึงความเป็นมนุษย์ที่มีทั้งรัก โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ เมื่อมีความรู้สึกเกิดขึ้น แทนที่จะปฏิเสธความรู้สึกเหล่านั้น ให้เริ่มสังเกตตัวเองว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ เป็นความรู้สึกอะไร เกิดจากอะไร แล้วเรามีทัศนคติอย่างไรกับความรู้สึกนี้ ลองทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการฝึกยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง
2. ฝึกจัดการกับความเครียดและความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้น
การปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองนั้น เป็นกลไกทางจิตที่เกิดขึ้นเพราะเราไม่สามารถรับมือกับความเครียด ความเสียใจ ความเศร้าโศก หรือความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงเลือกที่จะปฏิเสธความรู้สึกนั้น ลองฝึกจัดการกับอารมณ์ลบๆ ที่เกิดขึ้นและมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตมนุษย์ และไม่คงอยู่ถาวร หรือหาวิธีคลายเครียดอื่นๆ ที่เหมาะกับตนเองเพื่อให้สามารถรับมือกับอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้นได้
3. ฝึกแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม
บางคนมองว่าการแสดงอารมณ์ลบๆ ออกมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ จึงเลือกที่จะเพิกเฉยต่ออารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อบ่อยครั้งเข้าก็เกิดเป็นความด้านชา ไร้ความรู้สึก ไม่ยินดียินร้ายอะไร แต่ความเป็นจริงแล้ว เราสามารถแสดงความโกรธ โมโห แสดงความเศร้าโศกเสียใจออกมาได้ แต่จะแสดงออกอย่างไรให้เหมาะสมและไม่ทำร้ายผู้อื่น เช่น ไม่ด่าทอ ไม่ใช้กำลัง แต่เป็นการบอกว่าเรารู้สึกอย่างไร เพราะอะไรถึงรู้สึกแบบนี้ และอยากให้อีกฝ่ายปฏิบัติกับเราอย่างไร ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้และเข้าใจกันมากขึ้นด้วย
4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
หากภาวะด้านชาทางความรู้สึกรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของเรา เช่น ไม่มีความรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์ใดๆ จนทำให้เกิดปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด ละเลยความรู้สึกของผู้อื่นเช่นเดียวกันจนเกิดความขัดแย้ง แยกตัวออกจากสังคม รู้สึกเหนื่อยล้าทางกายแบบเรื้อรัง ไม่มีสมาธิกับการทำงาน หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ เพื่อทำการบำบัดรักษาอย่างถูกต้อง เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตในระยะยาวได้
ภาวะด้านชา ไร้ความรู้สึก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เจอกับเหตุการณ์ร้ายๆ มามากจนไม่สามารถรับมือกับความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นได้ จึงใช้กลไกป้องกันทางจิตด้วยการปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งความรู้สึกดีๆ และความรู้สึกแย่ๆ ทำให้กลายเป็นคนเฉยชา ว่างเปล่า ไม่ยินดียินร้ายอะไร หากเกิดขึ้นเป็นเวลานานก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตได้ และส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างอีกด้วย หมั่นสังเกตตัวเองว่าเรากำลังมีภาวะแบบนี้อยู่หรือเปล่า จะได้หันมาใส่ใจและดูแลจิตใจตัวเองได้อย่างทันท่วงทีนะคะ
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : alljitblog.com, healthline.com, psychcentral.com, verywellmind.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ