“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Toxic Positivity คือ อะไร ? คิดบวกมากเกินไปก็ไม่ดี ชวนรู้จักการคิดบวกที่อาจทำให้เสียสุขภาพจิตได้
แนวคิดเกี่ยวกับการคิดบวกนั้น เป็นสิ่งที่มีมานาน และดูเหมือนว่าจะช่วยให้คนๆ หนึ่งมีวิธีจัดการกับปัญหาได้ดีขึ้นและสามารถเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากได้ ผ่านการคิดบวก ตรงข้ามกับคนที่มีทัศนคติแบบคิดลบ หรือมองโลกในแง่ลบ มองทุกอย่างเป็นปัญหาหรือมองในส่วนที่ไม่ดีอยู่เสมอ ซึ่งนั่นอาจก่อให้เกิดความเครียดสะสมและอาจกลายเป็นโรควิตกกังวลได้ อย่างไรก็ตาม การที่คิดบวกมากเกินไป ก็อาจก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Toxic Positivity คือ คิดบวกจนเป็นพิษ จนทำให้กลายเป็นคนที่ปฏิเสธความจริง และละเลยปัญหาได้ คิดบวกมากไปก็ส่งผลเสียจริงหรือ ? เรามาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยค่ะ
Toxic Positivity คือ อะไร ? ชวนรู้จักการคิดบวกจนเป็นพิษต่อจิตใจ
หลายๆ คนอาจเคยได้ยินมาว่า การคิดบวกหรือการมองโลกในแง่บวกนั้น จะทำให้เรารู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง เครียดน้อยลง และมีความสุขมากขึ้นได้ เพียงแค่คิดบวก ชีวิตเปลี่ยนทันที ฯลฯ แต่ทำไมการคิดบวกก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจเราได้เหมือนกัน เพราะการพยายามคิดบวกนั้น อาจทำให้ปฏิเสธความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง และคิดว่าความรู้สึกนี้ไม่ควรเกิดขึ้น อาทิ ความโกรธ ความผิดหวัง ความเศร้า ความเสียใจ การพยายามปกปิดหรือกดความรู้สึกเหล่านี้เอาไว้ และแสดงออกในทางตรงกันข้าม อาจทำให้เกิดภาวะ Toxic Positivity คือ การมองโลกในแง่บวกที่เกินพอดี มองเห็นทุกอย่างเป็นความสุข จะต้องมีแต่ความสุขเท่านั้น มองว่าการรักษาสภาวะความสุขคือทางออกของปัญหาทุกอย่าง จนละเลยอารมณ์เชิงลบที่เกิดขึ้น ซึ่งพฤติกรรมแบบนี้อาจนำไปสู่ภาวะของ “การปฏิเสธความจริง” ได้
เกร็ดสุขภาพ : ความแตกต่างระหว่าง Positive Thinking กับ Toxic Positivity คือ การคิดบวกหรือ Positive Thinking เป็นการปรับมุมมองเกี่ยวกับสิ่งที่จะได้รับจากการเผชิญปัญหานั้นๆ เช่น คิดว่าได้ประสบการณ์ ได้เติบโตขึ้น ได้เรียนรู้ โดยยอมรับความรู้สึกของตนเองว่ารู้สึกเสียใจ ผิดหวัง ฯลฯ แต่ Toxic Positivity เป็นการพยายามบังคับตนเองให้มีอารมณ์เชิงบวกต่อสถานการณ์นั้นๆ โดยที่ปฏิเสธจะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกเชิงลบของตัวเองและกดข่มเอาไว้ หรือมีแนวคิดที่ว่า “คิดบวก ชีวิตเปลี่ยน” ด้วยการผลักใสความรู้สึกลบๆ ออกไปและคิดว่าตัวเองมีความสุข ไม่ได้ทุกข์ เพิกเฉยต่อปัญหาและบอกว่าทุกอย่างโอเค ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียด เป็นการสร้างความกดดันให้กับตัวเอง โดยเฉพาะหากต้องเจอกับเหตุการณ์รุนแรง เช่น การสูญเสีย การผิดหวังครั้งใหญ่ การบังคับให้ตัวเองมองโลกในแง่ดีในสถานการณ์เลวร้าย อาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างรุนแรงได้
สัญญาณของการคิดบวกจนเป็นพิษ หรือ Toxic Positivity คืออะไร ?
- พยายามซ่อนและปกปิดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
- หลีกเลี่ยงปัญหาแทนการเผชิญหน้ากับปัญหา
- ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น คิดว่า “ก็แค่ใช้ชีวิตต่อไป” แล้วผลักใสความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้น
- รู้สึกผิดเมื่อมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น เข่น รู้สึกผิดที่ตัวเองโกรธ รู้สึกผิดที่ตัวเองเสียใจ
- ลดทอนความรู้สึกด้านลบ/ประสบกาณ์ชีวิตที่ไม่ดีของคนอื่นด้วยคำคมหรือข้อความสร้างแรงบันดาลใจ
- มักจะบอกคนอื่นว่า “มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้” แทนการประเมินความรู้สึกจริงที่เกิดขึ้น
- ตำหนิ หรือประนามคนที่แสดงความรู้สึกเชิงลบออกมา ไม่ว่าจะเป็นความหงุดหงิด โกรธ เสียใจ หรืออื่นๆ
- กำจัดความรู้สึกเชิงลบที่กวนใจตัวเองด้วยความคิดที่ว่า “มันก็เป็นแบบนี้แหละ”
ผลเสียของการมีความคิดแบบ Toxic Positivity คืออะไร ?
1. สร้างความรู้สึกละอายใจ เมื่อมีอารมณ์เชิงลบเกิดขึ้น
เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าเราอ่อนแอ หรือเราเป็นคนที่ดูขี้โมโห อารมณ์ร้อน หากเราแสดงความรู้สึกลบๆ ออกไป หากมีตัวเลือกระหว่าง การแสดงความรู้สึกที่ตรงไปตรงมา กับการแสร้งทำเป็นว่าทุกอย่างปกติและเรามีความสุขดี คนส่วนใหญ่อาจเลือกที่จะแสดงออกอย่างหลังมากกว่า และทำให้เกิดความรู้สึกอับอายหรือรู้สึกละอายใจ เมื่อตระหนักได้ว่าตนเองมีความรู้สึกเชิงลบเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ความรู้สึกทั้งเชิงบวกและลบเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์
2. กลายเป็นคนเก็บกดทางอารมณ์
การศึกษาในเชิงจิตวิทยาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า การเก็บซ่อนอารมณ์หรือปฏิเสธความรู้สึกของตนเองทำให้เกิดความตึงเครียดในร่างกาย และอาจทำให้เราสามารถจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ยากขึ้น อารมณ์ที่ถูกเก็บกดเอาไว้อาจแสดงออกมาในรูปของความวิตกกังวล ซึมเศร้า หรือก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางกายได้ ในทางกลับกัน การที่มนุษย์เราแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมาอย่างหลากหลาย แม้จะเป็นอารมณ์เชิงลบก็ตาม ทั้งการแสดงออกทางสีหน้า การร้องไห้ หรือการพูดออกไปว่าเรารู้สึกอย่างไรแบบตรงไปตรงมา จะช่วยให้เราสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ และตอบสนองต่อความเครียดได้ดีขึ้น การที่เรายอมรับว่าตนเองรู้สึกอย่างไรแบบตรงไปตรงมา จะช่วยให้เราหาทางจัดการกับความรู้สึกนั้นได้ ช่วยให้เรามีสติรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองมากขึ้น พร้อมทั้งมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย
3. มีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
การมีความคิดเชิงบวกมากเกินไปแบบ Toxic Positivity คือสิ่งที่ทำให้เราละเลยความรู้สึกตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ อาทิ เมื่อเพื่อนมีเรื่องทุกข์ใจอยากมาปรึกษาเรา แต่เราบอกกับเพื่อนว่าให้มองด้านดีๆ หรือบอกว่า “ยังมีคนที่แย่กว่านี้ คิดบวกหน่อยสิ” “อย่าไปคิดถึงมันเลย แล้วทุกอย่างจะผ่านไปด้วยดี” “ฉันทำได้ เธอก็ต้องทำได้” โดยที่ไม่ได้สนใจความรู้สึกของเพื่อนนั่นอาจทำให้เพื่อนรู้สึกว่าเราเย็นชาหรือไม่ยินดียินร้ายกับความทุกข์ที่เกิดขึ้น การมีความคิดแบบ Toxic Positivity คือสิ่งที่ทำให้เราขาดความเห็นอกเห็นใจใจผู้อื่นหรือขาด Empathy และทำให้คนรอบตัวของเรารู้สึกห่างเหิน รู้สึกว่าไม่ถูกใส่ใจได้
เกร็ดสุขภาพ : เราสามารถให้คำปรึกษาหรือให้กำลังใจผู้อื่นด้วยการส่งพลังบวก โดยที่ไม่ต้องมีทัศนคติแบบ Toxic Positivity ได้ เช่น การรับฟังปัญหาของผู้อื่นโดยไม่ตัดสิน การพูดว่า “ฉันจะช่วยเธอยังไงได้บ้าง” “ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ฉันจะอยู่ข้างๆเธอนะ” “ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องเจอ แต่เธอไม่ได้โดดเดี่ยวนะ เธอยังมีฉัน” หรือ “นั่นมันแย่มาก ฉันเสียใจด้วยที่เธอต้องมาเจออะไรแบบนี้” เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้นได้ โดยที่ไม่มีการคิดบวกเกินความจริงหรือคิดบวกจนเป็นพิษแต่อย่างใด
4. ขัดขวางการเติบโตภายในตนเอง
การคิดบวกมากเกินไป หรือ Toxic Positivity คือพฤติกรรมที่ทำให้เราหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรู้สึกเจ็บปวด และเลือกที่จะแสดงออกว่ามีความสุขแทน ซึ่งการปฏิเสธที่จะเผชิญหน้ากับความผิดหวัง ความเสียใจ ความเจ็บปวด อาจเป็นสิ่งที่ขัดขวางให้เราไม่เกิดการเรียนรู้จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือมีการตระหนักรู้ในตนเองและเกิดการตกตะกอนทางความคิด ความรู้สึก ซึ่งการยอมรับอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบที่เกิดขึ้นและกล้าที่จะเผชิญหน้ากับความผิดหวังเสียใจ อาจเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้เรามีการเติบโตภายในตนเองก็เป็นได้
วิธีรับมือกับความรู้สึกลบ เพื่อไม่ให้เกิด Toxic Positivity
ตอนนี้เราก็พอจะเข้าใจกันมากขึ้นแล้วว่า Toxic Positivity คืออะไร การคิดบวกมากเกินไปนั้นก่อให้เกิดความ Toxic ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งบางคนอาจจะเกิดความสงสัยว่า ถ้าไม่ให้คิดบวก แล้วเราจะสามารถจัดการกับปัญหาหรือสถานการณ์นั้นๆ ได้อย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดหรือเป็นทุกข์ เราจะสามารถจัดการกับความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างไรเพื่อให้มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
1. คุยกับตัวเอง และยอมรับอารมณ์ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น
การมีความรู้สึกลบๆ อย่างผิดหวัง โกรธ หงุดหงิด เสียใจ ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนเจ้าอารมณ์แต่อย่างใด เพราะการมีอารมณ์ความรู้สึกทั้งเชิงบวกและลบนั้น เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งจะทำให้เรามองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น และรู้ว่าสามาเหตุของอารมณ์เหล่านี้เกิดจากอะไร จะสามารถจัดการได้อย่างไร การคุยกับตัวเองเยอะๆ ก็เป็นวิธีฮีลใจได้เหมือนกัน
2. ซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง
การที่เราแสดงอารมณ์ตามความเป็นจริง ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราจัดการกับความความรู้สึกลบๆ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น การร้องไห้ออกมา หรือบอกกับคนอื่นว่าเรารู้สึกเศร้า รู้สึกโกรธ ผิดหวัง เสียใจ เพราะการซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองนั้นเป็นการยอมรับตัวเองในอีกรูปแบบหนึ่ง การคิดถึงความรู้สึกของคนอื่นมากไปโดยที่ละเลยความรู้สึกตัวเอง อาจทำให้เราขาดความเคารพในตัวเองและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงได้
3. ระบายกับคนใกล้ชิดที่พร้อมจะรับฟังและให้กำลังใจเรา
มีการศึกษาพบว่า การระบายความรู้สึกออกมาเป็นคำพูดจะช่วยลดความรุนแรงของอารมณ์ได้ และอาจช่วยลดความเจ็บปวดทางใจได้ด้วย การพูดคุยกับคนใกล้ชิดที่เราไว้ใจและพร้อมที่จะรับฟังเรา ช่วยให้เรารู้สึกสบายใจมากขึ้นโดยที่ไม่ต้องเก็บกดอารมณ์ลบๆ นั้นไว้กับตนเอง ทั้งนี้ หากไม่อยากพูดคุยกับใคร การเขียนไดอารี่ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้ความตึงเครียดทางอารมณ์ลดลงได้เช่นกันค่ะ ทั้งนี้ ถ้าหากเป็นเรื่องที่หนักหนามากจริงๆ และอาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ การพูดคุยกับนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัด ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีเหมือนกันนะคะ
4. ดูแลตัวเองให้ดี
การมี Self Care คือการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เราควรดูแลตัวเองให้ดีแม้ว่าจะเจอกับเรื่องเครียดแค่ไหนก็ตาม อย่างการกินอาหารที่อร่อยๆ และมีประโยชน์ต่อร่างกาย หรือการไปทำสปา ไปออกกำลังกาย ทำอะไรที่เป็นการปรนิบัติดูแลร่างกายตัวเอง หรือออกไปพบปะผู้คน อาจส่งผลทำให้จิตใจของเราได้ผ่อนคลายจากความเครียด และหาหนทางแก้ไขปัญหาได้ตามสถานการณ์ความเป็นจริงโดยที่ไม่ต้องใช้วิธีคิดบวกอย่างไม่ขึ้นกับความเป็นจริงเพื่อปัดความรู้สึกลบๆ ออกไป และก่อให้เกิด Toxic Positivity ได้
5. หยุดเล่นโซเชียลออนไลน์บ้าง
ในโลกออนไลน์นั้น เราต่างรู้ดีว่าทุกคนอยากดูดีในสายตาคนอื่น อยากเป็นคนที่ดูแฮปปี้มีความสุขสดใส จึงนำเสนอแต่ด้านดีๆ ในสังคมออนไลน์ การเห็นชีวิตของคนอื่นที่มีความสุขอาจก่อให้เกิดการเปรียบเทียบกับชีวิตของตนเอง และอาจทำให้เกิดความรู้สึกแย่กับตัวเองหรือผิดหวังในตัวเองมากขึ้น ซึ่งแท้จริงแล้ว แต่ละคนก็มีความทุกข์เป็นของตัวเอง แต่ละคนมีเรื่องราว มีเงื่อนไข มีข้อจำกัดในชีวิตแตกต่างกัน คงไม่มีใครอยากจะนำเสนอความทุกข์หรือความยากลำบากของตัวเองในโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม การหยุดเล่นโซเชียลและหันมาโฟกัสกับตัวเองให้มากขึ้น ก็จะช่วยให้เราไม่เปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นและลดความรู้สึกแย่ต่อตัวเองได้
แน่นอนว่าการมองโลกในแง่บวกหรือการพยายามหามุมมองด้านบวกต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นจะช่วยให้เราสามารถจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ แต่นั่นคือการมองโลกในแง่บวก “ตามความเป็นจริง” การคิดบวก ชีวิตเปลี่ยน อาจหมายถึงการที่เรามองเห็นถึงปัญหา กล้าที่จะเผชิญหน้า และเรียนรู้จากมัน เรียนรู้จากความเจ็บปวด ค้นหาบทเรียนจากความผิดหวังเสียใจ เพื่อให้เกิดการเติบโตและสามารถก้าวต่อไปได้ หรือบางครั้งบางทีก็อาจไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้อะไรเลยก็ได้ เพียงแค่ยอมรับความรู้สึกของตัวเองที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทั้งความรู้สึกเชิงบวกและเชิงลบ อนุญาตให้ตัวเองเศร้า ผิดหวัง เสียใจ และบอกกับตัวเองว่า “มันโอเคที่เราจะไม่โอเค” เพราะเมื่อเรายอมรับความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว เราจะสามารถจัดการกับมันได้และสามารถก้าวต่อไปได้ โดยที่ไม่ต้องพยายามมองโลกในแง่บวกแต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : thepsychologygroup.com, betterup.com, verywellmind.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ