“เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡
Computer Vision Syndrome คือ อะไร ? ชวนรู้จักโรคยอดฮิตของคนติดหน้าจอ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การทำงานของเราทุกวันนี้ต่างต้องจ้องหน้าจอเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจอคอมพิวเตอร์ จอแท็บเลต หรือหน้าจอมือถือ และไม่ใช่แค่เฉพาะในเรื่องของการทำงานเท่านั้น ในชีวิตประจำวันของเราก็ใช้เวลาไปกับการจ้องหน้าจอเป็นส่วนมาก ด้วยเพราะเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์ จะดูหนัง ฟังเพลง อ่านข่าว อ่านบทความ ก็สามารถทำได้ผ่านการอุปกรณ์เหล่านี้ ทำให้ดวงตาของเราต้องมองหน้าจอเกือบทั้งวัน ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้า ไม่สบายตา หรือเป็นโรค Computer Vision Syndrome คือ กลุ่มอาการทางตาจากจอคอมพิวเตอร์ได้ แล้วโรคนี้มีอาการอย่างไร อันตรายขนาดไหน มีวิธีการดูแลตัวเองยังไงบ้าง ใครที่ทำงานกับหน้าจออยู่ประจำต้องอ่านเลยค่ะ
โรค Computer Vision Syndrome คือ อะไร ชวนรู้จักโรคจากการจ้องจอให้มากขึ้น
โรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หรือ Computer Vision Syndrome คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ซึ่งกลุ่มโรคนี้พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยความรุนแรงของอาการจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการใช้สายตาในการจ้องคอมพิวเตอร์หรือจ้องหน้าจออุปกรณ์อื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งแท็บเลต สมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์ดิจิตอลอื่นๆ ซึ่งพบว่าพฤติกรรมการใช้งานหน้าจอที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรค Computer Vision Syndrome มากที่สุดคือ การจ้องหน้าจออย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 2 – 3 ชั่วโมงขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานอยู่กับหน้าจอทั้งวัน รวมถึงคนที่เข้าข่ายเป็นโรคติดโทรศัพท์ด้วยเช่นกัน
อาการของโรค Computer Vision Syndrome คืออะไร ?
- รู้สึกปวดเมื่อยตา
- ตาแห้ง
- แสบตา
- เคืองตา
- โฟกัสได้ช้าลง
- ตาสู้แสงไม่ได้
- ตาพร่ามัว
- ปวดกระบอกตา
- ปวดศีรษะ
- มีอาการปวดไหล่ ปวดหลัง หรือต้นคอร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดโรคกลุ่มอาการทางตาอย่าง Computer Vision Syndrome คืออะไรบ้าง
สาเหตุของการเกิดโรคคอมพิวเตอร์วิชั่นซินโดรม หลักๆ แล้วมาจากการจ้องหน้าจอเป็นเวลานานเกินไป ทำให้ดวงตาของเราถูกใช้งานอย่างหนัก พบได้บ่อยในผู้ที่ทำงานกับหน้าจอ ทั้งพนักงานออฟฟิศทั่วไป คนทำงานด้านกราฟิก นักเขียน นักศึกษา นักเรียนที่เรียนออนไลน์ รวมถึงบุคคลที่ต้องนั่งทำงานหน้าจอติดต่อกันเป็นเวลานานๆ หรือผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานๆ เพราะติดโซเชียลออนไลน์จนเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดโทรศัพท์ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ โดยสามารถระบุสาเหตุแยกย่อยได้ดังนี้
- ปัจจัยจากดวงตา การทำงานผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เป็นการใช้สายตาระยะใกล้ถึงกลาง โดยธรรมชาติแล้วจะต้องเพ่งกล้ามเนื้อตาเพื่อให้มองภาพได้คมชัดมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้มีการกระพริบตาน้อยลง และรู้สึกปวดกระบอกตา ทั้งยังทำให้ตาแห้งได้ง่าย ซึ่งถ้าไม่ทำการพักสายตาหรือปล่อยไว้ไม่ดูแล อาจเป็นการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุตา และทำให้มีอาการตาแดงได้
- สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ทั้งแสงสว่างที่ไม่เพียงพอ จ้องหน้าจอในที่มืด (อ่านเพิ่มเติม เล่นโทรศัพท์ในที่มืดเป็นเวลานานเสี่ยงตาบอดจริงหรือไม่) ระยะห่างจากหน้าจอไม่เหมาะสม มีแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์มากเกินไป ภาพหน้าจอไม่คมชัด ตัวหนังสือเล็ก ต้องเพ่งมอง ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า รู้สึกปวดตา ตาพร่ามัว ทั้งนี้ การอยู่ในห้องที่มีเครื่องปรับอากาศซึ่งมีความชื้นต่ำ ก็ส่งผลทำให้ตาแห้งมากขึ้นได้ด้วย
- อุปกรณ์ที่ใช้นั่งทำงานไม่เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งส่งผลต่อท่าทางการนั่ง ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยได้ รวมถึงระดับสายตาในการมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ทำให้ต้องก้มมองหรือเงยหน้ามากเกินไป ทำให้รู้สึกปวดต้นคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ได้ง่าย
เกร็ดสุขภาพ : การใส่คอนแทคเลนส์ จะทำให้รู้สึกตาแห้งได้ง่ายขึ้น ถ้ามีอาการตาแห้งมากๆ อาจทำให้กระจกตาถลอกหรือเป็นแผลได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดตารติดเชื้อและส่งผลต่อการมองเห็น การใส่คอนแทคเลนส์ที่ดีต่อสุขภาพดวงตาต้องไม่ใส่ติดต่อกันเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน และห้ามใส่คอนเทคเลนส์นอนเป็นอันขาด ผู้ที่มีสายตาสั้นควรใส่คอนแทคเลนส์สลับกับการใส่แว่น เพื่อให้ดวงตาได้รับออกซิเจนและกระจกตาได้พักการใช้งาน ร่วมกับการหยอดน้ำตาเทียมเมื่อตาแห้งเพื่อให้รู้สึกสบายตามากยิ่งขึ้น หากต้องจ้องหน้าจอทั้งวันและมีสายตาสั้น ควรสวมแว่นตามากกว่าการใส่คอนแทคเลนส์ เพื่อให้ดวงตาของเราได้พักผ่อนและไม่ถูกใช้งานมากเกินไปจนรู้สึกไม่สบายตาได้
การรักษาโรค Computer Vision Syndrome ทำได้อย่างไร ?
สำหรับผู้ที่มีอาการดังกล่าว และกำลังสงสัยว่าตนเองจะเป็นโรค Computer Vision Syndrome หรือไม่ มีวิธีการรักษาหรือเปล่า ซึ่งถ้าหากไปพบแพทย์ แพทย์ก็จะสอบถามถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต รวมถึงลักษณะการทำงานเพื่อประเมินปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ และอาจให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพตาหรือตรวจสายตา เพื่อวางแผนการรักษาตามอาการอย่างเหมาะสมต่อไป รวมถึงได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอื่นๆ ในการทำงาน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
เกร็ดสุขภาพ : อีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด Computer Vision Syndrome คืออายุ เพราะยิ่งมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากเลนส์แก้วตาของคนเราจะค่อยๆ สูญเสียความยืดหยุ่นเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้สามารถโฟกัสวัตถุระยะใกล้ไกลได้น้อยลงเมื่อมีอายุประมาณ 40 ปีส่งผลให้เรามีอาการสายตายาว และถ้าใครมีปัญหาทางสายตาอยู่แล้วอย่างสายตาสั้นหรือสายตาเอียง แต่ไม่ยอมใส่แว่น ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค Computer Vision Syndrome ได้มากกว่าคนทั่วไปด้วย
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดโรค Computer Vision Syndrome ทำได้อย่างไรบ้าง
- จัดตำแหน่งหน้าจอให้มีระยะห่างจากดวงตาประมาณ 20 – 28 นิ้ว และปรับระดับหน้าจอให้ต่ำกว่าระดับสายตาประมาณ 15 – 20 องศา หรือประมาณ 5 – 6 นิ้ว เพื่อให้ท่าทางในการทำงานนั้นมีความเหมาะสม กล่าวคือ ศีรษะตั้งตรง สายตามองต่ำเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นการลดการเปิดกว้างของตา ช่วยลดอาการตาแห้ง ลดอาการปวดคอ ปวดไหล่ได้
- หมั่นพักสายตาเป็นระยะ โดยใช้กฎ 20-20-20 กล่าวคือ ให้พักสายตาจากหน้าจอทุกๆ 20 นาทีด้วยการมองออกไปในระยะ 20 ฟุต (ประมาณ 6 เมตร) เป็นเวลาประมาณ 20 วินาที และเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ ให้หยุดพักเป็นเวลาประมาณ 15 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง
- ขณะนั่งทำงานหน้าจอ ควรกระพริบตาให้บ่อยขึ้นเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตา ซึ่งคนปกติจะมีการกระพริบตาเฉลี่ยประมาณ 14 – 16 ครั้งต่อนาที แต่ผู้ที่ทำงานหน้าจอจะพริบตาน้อยลงเหลือเพียง 4 ครั้งต่อนาทีเท่านั้น ทำให้เกิดอาการตาแห้งและแสบตาได้ง่าย หรือถ้ารู้สึกตาแห้งมากๆ สามารถหยอดน้ำตาเทียมเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับดวงตาได้
- ปรับแสงไฟในบริเวณที่ทำงานให้มีความเหมาะสม ทั้งไฟเพดานในห้องทำงาน โคมไฟบนโต๊ะทำงาน และแสงสว่างจากหน้าต่างห้องทำงาน ไม่ควรสว่างมากเกินไป เพื่อลดแสงสะท้อนจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออาจใช้กระจกกันแสงสะท้อนติดที่หน้าจอเพื่อลดแสงสะท้อนเข้าดวงตา และควรปรับความสว่างของหน้าจออุปกรณ์ไม่ให้สว่างมากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกปวดตามากขึ้น ทั้งนี้ ควรทาครีมกันแดด ป้องกันแสงสีฟ้า เพื่อปกป้องผิวของเราด้วยนะคะ
- ไปตรวจวัดค่าสายตาเป็นประจำ ซึ่งถ้าหากค่าสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นแต่ไม่สวมแว่น ก็จะทำให้มองจอใกล้ขึ้น จ้องหน้าจอมากขึ้น ทำให้รู้สึปปวดตาหรือไม่สบายตาได้ ซึ่งการใส่แว่นสายตาจะทำให้มองเห็นได้คมชัดมากขึ้น ทั้งนี้ การสวมแว่นกรองแสงสำหรับการทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะ ก็จะทำให้มองจอได้สบายตาขึ้นค่ะ
โรค Computer Vision Syndrome คือโรคใกล้ตัวที่สามารถเป็นกันได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เพราะปัจจุบันการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่มีหน้าจอทั้งหลายนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ และเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ชีวิตเลยก็ว่าได้ เพราะส่วนใหญ่แล้วก็ใช้ทำงาน หรือใช้ดูสื่อต่างๆ ทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการมองหน้าจอเป็นเวลานานๆ ได้ ทั้งนี้ การพักสายตาบ่อยๆ รวมถึงจัดแจงสิ่งแวดล้อมในการทำงานทั้งความสว่างในห้องทำงาน โต๊ะ เก้าอี้ ความสว่างของหน้าจอ ให้เป็นไปอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เราห่างไกลจากโรคนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังในการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีในเด็กๆ ที่อาจจะทำให้เด็กติดมือถือและกลายเป็นโรคติดโทรศัพท์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กๆ ได้ แม้ว่าเราจะขาดอุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้ก็จริง แต่ก็ควรใช้อย่างพอดี และมีวิธีดูแลตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดความเจ็บป่วยจากการใช้อุกกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ได้
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : bangkokhospital.com, si.mahidol.ac.th, aoa.org, webmd.com
Featured Image Credit : freepik.com
ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ