X

Smiling Depression คือ อะไร ? มารู้จักโรคซึมเศร้าในคนที่ร่าเริง สนุกสนานกัน !

เพื่อสุขภาพ” ชุมชนสุขภาพ เรื่องราวตรงใจ ตอบโจทย์ทุกช่วงวัย รุ่นไหนก็รัก ♡

Smiling Depression คือ อะไร ? มารู้จักโรคซึมเศร้าในคนที่ร่าเริง สนุกสนานกัน !

โรคซึมเศร้าเป็นความเจ็บป่วยทางใจอย่างหนึ่งที่ส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด และชีวิตประจำวันของผู้ป่วย อาจทำให้เกิดความรู้สึกเศร้า หม่นหมอง สิ้นหวัง หดหู่ และขาดความสนใจในการทำสิ่งต่างๆ ในบางคนอาจร้ายแรงถึงขั้นคิดทำร้ายตัวเองหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม โรคซึมเศร้าไม่ได้เกิดขึ้นในคนที่ดูเศร้าหม่นหมองเท่านั้น คนที่มีความสดใสร่าเริง ดูสนุกสนานก็สามารถเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน เรียกว่า Smiling Depression คือ คนที่ยิ้มง่าย หัวเราะง่าย ดูสนุกสนานมีความสุข แต่อาจมีภาวะซึมเศร้าอยู่ลึกๆ ซึ่งถ้าปล่อยไว้ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ เรามารู้จักให้มากขึ้นกันเลยค่ะ

Smiling Depression คือ อะไร ?

smiling depression คือ, โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร
Image Credit : freepik.com

เมื่อพูดถึงภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า โดยทั่วไปแล้วเราก็จะนึกถึงความเศร้า ความหม่นหมอง ในบางคนอาจยิ้มไม่ออกหรือร้องไห้อยู่บ่อยๆ ซึ่งมักจะเป็นอาการโดยทั่วไปของคนที่มีภาวะซึมเศร้า ทั้งนี้ มีอาการที่เรียกว่า Smiling Depression คือ คนที่ภายนอกมองว่าดูมีชีวิตที่ดี ดูมีความสุข และมีความสามารถสูง เป็นคนร่าเริงแจ่มใส เข้าสังคมเก่ง สร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่นอยู่เสมอๆ แต่ภายในนั้นกลับมีความรู้สึกว่างเปล่า กำลังดิ้นรนกับความรู้สึกเศร้า หรือสิ้นหวัง และไม่ได้มีความสุขอย่างที่แสดงออกไปแม้แต่น้อย ซึ่งอาจจะสังเกตได้ยากว่าคนๆ นั้นกำลังมีภาวะซึมเศร้าอยู่หรือไม่ เนื่องจากคนที่มีภาวะ Smiling Depression คือคนที่ไม่แสดงความรู้สึกเศร้าออกมา และใช้รอยยิ้มกลบเกลื่อนความรู้สึกของตัวเอง ในบางคนก็อาจไม่รู้ตัวเลยว่าตัวเองมีอาการของโรคซึมเศร้าแฝงอยู่ เนื่องจากกดทับความรู้สึกของตัวเองอยู่บ่อยๆ จนหลงลืมความรู้สึกหรือความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง และไม่เข้าใจว่าตนเองรู้สึกอย่างไรกันแน่

เกร็ดสุขภาพ : โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร ? โดยปกติแล้ว ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามักจะรู้สึกว่างเปล่า หม่นหมอง รู้สึกเศร้า สิ้นหวัง หมดความสนใจในกิจกรรมต่างๆ มีปัญหาด้านการนอนหลับ รู้สึกเหนื่อยล้า ขาดความกระตือรือร้น รู้สึกประหม่า วิตกกังล รู้สึกไร้ค่า รู้สึกผิด โทษตัวเอง หมกมุ่นเรื่องความล้มเหลวของตัวเอง ขาดสมาธิ คิดช้าลง ทั้งยังคิดถึงเรื่องความตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายบ่อยๆ อีกด้วย

อาการของภาวะ Smiling Depression คืออะไร ?

smiling depression คือ, โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร
Image Credit : freepik.com
  • รู้สึกเศร้าและรู้สึกว่างเปล่าอย่างต่อเนื่อง : แม้จะยิ้มและดูร่าเริง แต่ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression อาจรู้สึกเศร้าหรือว่างเปล่าอยู่ลึกๆ ในใจ
  • การใช้อารมณ์ขันแบบไม่เห็นคุณค่าตนเอง : หรือพูดตลกเกี่ยวกับสถานการณ์แย่ๆ ในชีวิตของตัวเองเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากอารมณ์ที่แท้จริง
  • มีความเหนื่อยล้าและขาดพลังงาน: ผู้ที่มีภาวะ Smiling Depression อาจรู้สึกเหนื่อยล้าอย่างต่อเนื่องหรือขาดพลังงานอยู่บ่อยๆ แม้ภายนอกจะดูร่าเริงก็ตาม 
  • ความอยากอาหารหรือน้ำหนักเปลี่ยนแปลงไป : เช่น มีความอยากอาหารเพิ่มขึ้นหรือลดลง บางคนอาจจกินมากกว่าปกติหรือกินน้อยกว่าปกติ ทำให้น้ำหนักเปลี่ยนไปจากปกติด้วย 
  • การนอนหลับผิดปกติ : อาจมีปัญหานอนไม่หลับหรือนอนหลับมากผิดปกติ 
  • ความรู้สึกผิดหรือไร้ค่า : โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร ? คนที่มีอาการซึมเศร้าแบบ Smiling Depression มักจะรู้สึกผิดอย่างรุนแรง ไร้ค่า หรือตำหนิตัวเอง แม้ว่าจะไม่มีเหตุผลที่ชัดเจนก็ตาม เช่นเดียวกับคนที่เป็นโรคซึมเศร้าทั่วไป
  • สูญเสียความสนใจหรือความสุข : แม้ว่าคนที่มีภาวะ Smiling Depression คือคนที่ดูร่าเริงสดใส ยิ้มแย้มเก่ง แต่ความจริงแล้วผู้ที่มีภาวะนี้กลับรู้สึกไม่มีความสุขเลยแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งของคนที่มีภาวะ Smiling Depression คือ เป็นที่ปรึกษาให้กับคนอื่นได้ทุกเรื่อง ทุกคนคอยเข้าหาแต่มักจะไม่ค่อยพูดเรื่องของตัวเอง มีความรู้สึกว่าไม่อยากให้ตัวเองเป็นภาระใคร ไม่อยากรู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ ทั้งยังคาดหวังให้คนอื่นมีความสุข ส่วนตัวเองก็เก็บกดความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองไว้ แล้วเลือกแสดงออกด้วยการยิ้ม มีความร่าเริงแจ่มใสเหมือนตัวเองสบายดี ไม่เป็นอะไร เรามักจะเห็นในข่าวกรณีที่มีคนฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะซึมเศร้า และคนรอบข้างก็ให้ข้อมูลว่าคนๆ นั้นดูปกติร่าเริง ดูมีความสุขดี ดูเหมือนไม่มีเรื่องเครียดกังวลใจอะไร ซึ่งไม่แน่ว่า คนๆ นั้นอาจมีภาวะ Smiling Depression อยู่ก็ได้ค่ะ

เกร็ดสุขภาพ : เราพอจะทราบกันว่า โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร หนึ่งในนั้นคือความรู้สึกอยากตายและไม่อยากมีชีวิตอยู่ และถ้าหากมีความคิดอยากตาย คนที่เป็นโรคซึมเศร้าทั่วไปในบางคนอาจไม่มีเรี่ยวแรงมากพอจะลุกขึ้นมาทำตามที่ใจต้องการ แต่คนที่มีภาวะ Smiling Depression กลับมีแรงและพลังงานมากพอที่จะลุกขึ้นมาวางแผนและทำตามแผนจนกระทั่งทำสำเร็จ จึงเป็นเหตุผลว่ากลุ่มคนกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการเศร้าหมองที่สามารถดูออกได้ในทันที

สาเหตุของภาวะ Smiling Depression คืออะไร ?

smiling depression คือ, โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร
Image Credit : freepik.com

ในทางจิตวิทยาแล้ว โรคซึมเศร้าประกอบไปด้วยกลุ่มอาการหลักคือ มีอารมณ์เศร้าหมองหดหู่ ดังนั้น การแสดงออกด้วยการยิ้ม หัวเราะ แสดงความร่าเริงออกมา จึงเป็นเหมือนกลไกป้องกันตัวเอง หรือ Defense Mechanisms เพื่อซ่อนความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง เพราะไม่อยากเป็นภาระให้ใคร ไม่อยากทำให้คนรอบข้างรู้สึกไม่ดี หรือกลัวการถูกตัดสินจากคนรอบข้าง กลัวถูกกล่าวหาว่าเรียกร้องความสนใจ และบางคนอาจถูกคาดหวังจากภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูร่าเริงสดใส จึงคิดว่าการยิ้ม การหัวเราะ การทำตัวร่าเริงอาจทำให้ความเศร้าค่อยๆ หายไปเอง และไม่อยากยอมรับว่าตนเองกำลังรู้สึกเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าอยู่ ทั้งยังคิดว่าการแสดงออกถึงความเศร้าคือความอ่อนแอ หรือบางคนกดทับความรู้สึกตัวเองจนเกิดความชินชา ไม่แสดงออกถึงความเศร้าให้ใครเห็น และเลือกที่จะแสดงรอยิ้มออกมาแทนความเจ็บปวดข้างในจนติดเป็นนิสัยนั่นเอง

จะดูแลใจตัวเองอย่างไร เมื่อมีภาวะ Smiling Depression

smiling depression คือ, โรคซึมเศร้ามีอาการอย่างไร
Image Credit : freepik.com

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความรู้สึกเศร้าโศก หดหู่หม่นหมองนั้น เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้กระทั่งการเป็นโรคซึมเศร้าก็เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และความเศร้าไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เราตระหนักได้ว่า เราเองก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่สามารถอ่อนแอได้ และการยอมรับว่าตัวเองอ่อนแอก็เป็นความกล้าหาญอย่างหนึ่ง หากใครกำลังมีอาการของภาวะ Smiling Depression เรามาดูแลหัวใจตัวเองด้วยวิธีเหล่านี้กันค่ะ

  • อย่าละเลยการดูแลตัวเอง : มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมการดูแลตนเองและความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ ซึ่งอาจรวมถึงการออกกำลังกายเป็นประจำ การฝึกสติหรือการทำสมาธิ การนอนหลับให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่สมดุล และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ทำให้เรารู้สึกมีความสุข
  • โอบกอดตัวเองในแบบที่เป็น : ไม่ต้องรู้สึกผิดหรือรู้สึกเกลียดตัวเองในสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ และโอบกอดตัวเองในแบบที่เป็น โอบรับทุกความรู้สึกที่เกิดขึ้นว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตทางด้านจิตใจเพื่อการเป็นเราในเวอร์ชั่นที่ดีกว่าเดิม 
  • ขอความช่วยเหลือจากคนอื่น : พูดคุยกับเพื่อนที่คุณไว้ใจ สมาชิกในครอบครัว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังประสบอยู่ การแบ่งปันความรู้สึกทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ และโปรดจำไว้อยู่เสมอว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ มีคนที่รักเราเสมอและพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเราอยู่นะคะ 
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ : ถ้าหากว่าไม่สามารถรับมือกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อีกต่อไป การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตบำบัด นักจิตวิทยา หรือจิตแพทย์ ก็จะช่วยให้เราได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องเหมาะสม และทำให้เรารู้สึกดีขึ้นได้ในเร็ววัน

ความเศร้าเป็นเรื่องปกติ และเราเองก็เป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก ทั้งความสุข ความสนุกสนาน ความสดใส รวมถึงความเศร้า ความหม่นหมอง ที่บางครั้งก็อาจเกิดขึ้นได้ และการแสดงออกว่าเรากำลังเศร้าอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องแย่อะไร เราไม่จำเป็นที่เราจะต้องเข้มแข็งอยู่ตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือ การยอมรับความรู้สึกของตัวเองและแสดงออกมาอย่างซื่อตรง และถ้ารู้สึกว่าตนเองไม่สามารถรับมือได้คนเดียว การพูดคุยกับเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจหรือคนในครอบครัว รวมถึงผู้เชี่ยวชาญอย่างนักจิตวิทยาก็เป็นทางเลือกที่ดี ที่จะทำให้เราสามารถยิ้มและมีความสุขได้อย่างแท้จริง โดยที่ไม่ต้องทำเพราะอยากปกปิดความเศร้าเอาไว้ค่ะ ถ้าใครอยากรู้ว่าเรากำลังมีภาวะ Smiling Depression อยู่หรือเปล่า ก็สามารถทำแบบทดสอบที่นี่ได้เลย

อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก : pptvhd36.com, paradigmtreatment.com, medicalnewstoday.com, verywellmind.com

Featured Image Credit : freepik.com

ติดตามเราได้ที่ … เฟสบุ๊ค : เกร็ดสุขภาพ

ติดต่อโฆษณา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้การวิเคราะห์

    เราขออนุญาติใช้คุกกี้นี้เก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ เพื่อประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ที่ดีขึ้นให้กับคุณ

Save